Rheumatoid arthritis | โรคข้ออักเสบรูมาทอยด์, Example: <p>โรคข้ออักเสบรูมาทอยด์ (rheumatoid arthritis) เป็นโรคที่ทำให้เกิดการอักเสบทั่วร่างกาย เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ข้อ เยื่อบุข้อ และเส้นเอ็นรอบๆ ข้อของผู้ป่วยเกิดอาการอักเสบ เจ็บปวด จนเคลื่อนไหวลำบาก และอาจถึงขั้นพิการได้ และยังพบความผิดปกตินอกข้อที่เป็นได้กับอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย เช่น การอักเสบของเยื่อหุ้มปอด เยื่อหุ้มหัวใจ <p> <p>สาเหตุ<br/> ถึงแม้สาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เกิดโรคยังไม่ทราบแต่เชื่อว่าเกิดจากหลายสาเหตุประกอบกัน ได้แก่ พันธุกรรม ฮอร์โมน สิ่งแวดล้อม และเชื้อโรค<br/> - พันธุกรรม เช่น เด็กที่เกิดจากพ่อแม่ที่ป่วยเป็นโรคจะมีโอกาสป่วยเป็นโรคได้สูงกว่าคนทั่วไปประมาณ 16 เท่า<br/> - ฮอร์โมน เช่น เพศหญิงมีโอกาสป่วยเป็นโรคได้มากกว่าเพศชายหลายเท่า<br/> - สิ่งแวดล้อม เช่น อากาศและความเป็นอยู่ในเมืองอาจส่งผลต่อการเกิดและความรุนแรงของโรค<br/> - เชื้อโรค เช่น เชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรค เช่น ไวรัสเอ็ปสไตน์-บารร์ (Epstein-Barr virus : EBV) ไวรัสเริม (herpes virus) เชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรค เช่น เชื้อไมโคแบคทีเรีย (mycobacteria)<br/> <p> <p>อาการ<br/> ข้อต่างๆ ของผู้ป่วยจะมีอาการอักเสบ บวมแดง และฝืดแข็ง ซึ่งอาจรุนแรงจนทำให้เกิดข้อพิการในเวลาต่อมา เช่น ข้อนิ้วมืองอพับผิดรูป ข้อเท้าบวมมีนิ้วเท้ากระดกขึ้น นอกจากเกิดอาการอักเสบกับข้อต่างๆ รวมถึงมีอาการตัวร้อน น้ำหนักตัวลด และกล้ามเนื้อลีบ ยังอาจมีอาการอักเสบเกิดขึ้นนอกข้อกับอวัยวะต่างๆ เช่น มีปุ่มรูมาทอยด์ซึ่งเป็นปุ่มก้อนตามผิวหนังตรงตำแหน่งกดทับต่างๆ หลอดเลือดอักเสบ เยื่อหุ้มปอดอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ภาวะโลหิตจาง <p> <p>การวินิจฉัย<br/> อาศัยการตรวจร่างกายหาอาการอักเสบของข้อต่างๆ รวมถึงปุ่มรูมาทอยด์ สารรูมาทอยด์แฟกเตอร์ในเลือด การเอกซเรย์เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงของกระดูก ประวัติของญาติ <p> <p>การรักษา<br/> ขั้นตอนในการรักษา<br/> 1. การวินิจฉัยโรคเร็ว<br/> 2. การประเมินระดับความรุนแรงของโรค<br/> 3. การประเมินว่ามีองค์ประกอบของการพยากรณ์โรคดีหรือไม่ดี<br/> 4. การรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วย สามารถจำแนกการรักษาได้เป็น 2 รูปแบบ คือ<br/> - การรักษาที่ไม่ใช้ยา การให้ความรู้แก่ผู้ป่วยเกี่ยวกับโรคและแผนการรักษา การออกกำลังกายควรเริ่มจากการออกกำลังกายแบบไอโซเมตริก (isometric exercise) ซึ่งเป็นการออกกำลังกายแบบเกร็งกล้ามเนื้อโดยไม่มีการเคลื่อนไหวส่วนใดๆ ของร่างกาย เพื่อให้อาการข้ออักเสบดีขึ้นแล้วจึงเปลี่ยนเป็นการออกกำลังกายแบบไอโซโทนิก (isotonic exercise) ซึ่งเป็นการออกแรงโดยต่อสู้กับแรงต้านทาน ทำให้กล้ามเนื้อมีการหดตัวและคลายตัวและข้อต่อมีการเคลื่อนไหว การนอนพัก 6-8 ชั่วโมงในเวลากลางคืนและ 1 ชั่วโมงในตอนบ่ายจะช่วยให้อาการอ่อนเพลียดีขึ้น กายภาพบำบัด การผ่าตัดจะทำในกรณีผู้ป่วยมีโครงสร้างข้อเสียหาย<br/> - การรักษาโดยใช้ยา อาจให้ยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์เพื่อลดอาการปวดข้อ ข้ออักเสบ หรือให้ยาต้านรูมาทิซึมที่ช่วยชะลอการดำเนินโรค ทำให้โรคดีขึ้น หรือในกรณีที่เป็นโรคข้ออักเสบในระดับรุนแรงอาจให้ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ถึงแม้อาจมีผลข้างเคียงในระยะยาว <br> <br>แหล่งข้อมูล<br> สุรศักดิ์ นิลกานุวงศ์. (2553). โรคข้ออักเสบรูมาทอยด์. ในสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. (เล่มที่ 35, หน้า 216-241). กรุงเทพฯ : โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. [วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี] |