ก้นปล่อง | น. ชื่อยุงในสกุล Anopheles วงศ์ Culicidae ที่พบทั่วไป เช่น ชนิด A. dirus Peyton & Harrison, A. minimusTheobald, A. maculatus Theobald ยุงเหล่านี้เวลาเกาะหรือดูดเลือดคนหรือสัตว์ หัวจะปักลง ก้นชี้ขึ้น ผนังด้านล่างของส่วนท้องไม่มีเกล็ด ทั้งเพศผู้และเพศเมียมีรยางค์ปากยื่นยาวออกมา ๑ คู่ ทำให้เหมือนกับมีปากเป็นสามแฉก เพศเมียดูดเลือดและบางชนิดเป็นพาหะในการนำโรคมาสู่คนและสัตว์ เช่น ไข้มาลาเรีย เพศผู้กินนํ้าหรือนํ้าหวานจากเกสรดอกไม้. |
กรอก ๒ | (กฺรอก-) น. ชื่อนกยางขนาดเล็ก ในวงศ์ Ardeidae นอกฤดูผสมพันธุ์เพศผู้และเพศเมียสีลำตัวคล้ายกัน แต่ในฤดูผสมพันธุ์สีต่างกัน ในประเทศไทยมี ๓ ชนิด คือ ยางกรอกพันธุ์จีน [ Ardeola bacchus (Bonaparte) ] หัวสีนํ้าตาลแดง หลังสีเทาดำ อกสีแดง ยางกรอกพันธุ์ชวา [ A. speciosa (Horsfield) ] หัวและคอสีเหลือง หลังสีเทาดำ อกสีเหลือง และยางกรอกพันธุ์อินเดีย [ A. grayii (Sykes) ] หัวและคอสีเหลือง หลังสีแดงเข้ม อกสีน้ำตาลเหลือง กินปลาและสัตว์น้ำ. |
กระสือ ๓ | น. ชื่อตัวอ่อนหิ่งห้อยและตัวเต็มวัยหิ่งห้อยเพศเมียที่ไม่มีปีกหลายชนิดหลายสกุล ในวงศ์ Lampyridae เช่น สกุล Lamprigera, Pyrocoelia, Diaphanesยาวได้ถึง ๑๐ เซนติเมตร อยู่ตามพื้นดิน สามารถทำแสงจากอวัยวะทำแสงที่อยู่ปลายท้องได้ เรียกว่า หนอนกระสือ. (ดู หิ่งห้อย ประกอบ). |
กระอาน | น. ชื่อเต่านํ้ากร่อยขนาดใหญ่ชนิด Batagur baska (Gray) ในวงศ์ Emydidae จมูกแหลมงอนคล้ายตะพาบ เมื่อยังเล็กกระดองค่อนข้างแบน เมื่อโตขึ้นกระดองโค้งรี เพศเมียหัวและกระดองสีน้ำตาล เพศผู้หัวและกระดองสีดำตาสีขาว ตีนมีพังผืดเต็ม สามารถปรับตัวอยู่ในนํ้าจืดได้ พบในบริเวณที่มีน้ำไหลทางภาคใต้โดยเฉพาะแถบจังหวัดสตูล, กะอาน ก็เรียก. |
กัญชา | (กัน-) น. ชื่อไม้ล้มลุกชนิด Cannabis sativa L. ในวงศ์ Cannabaceae ใบมนแฉกลึกเข้าไปทางก้านหลายแฉก ดอกสีเขียว ช่อดอกเพศผู้และช่อดอกเพศเมียอยู่ต่างต้นกัน ใบและช่อดอกเพศเมียที่แห้งเรียก กะหลี่กัญชา ใช้สูบปนกับยาสูบ มีสรรพคุณทำให้มึนเมา เปลือกลำต้นใช้ทำเชือกป่าน และทอผ้า. |
ก้ามกราม | น. ชื่อกุ้งชนิด Macrobrachium rosenbergii (De Man) ในวงศ์ Palaemonidae ตัวโต เปลือกสีครามปนเขียว ก้ามใหญ่สีฟ้าหรือสีคราม มีหนาม ไข่ฟักเป็นตัวอ่อนในน้ำกร่อยแล้วมาอาศัยเจริญเติบโตจนเป็นตัวเต็มวัยในน้ำจืด, กุ้งก้ามคราม หรือ กุ้งหลวง ก็เรียก, เพศเมียเรียก กุ้งนาง. |
กิ้งก่า | น. ชื่อสัตว์เลื้อยคลานหลายชนิดหลายสกุล ในวงศ์ Agamidae มีขนาดลำตัวต่าง ๆ กัน สันกลางของคอถึงลำตัวมีหนามแหลมจำนวนและขนาดต่างกัน เพศผู้มีสีเข้มและปรับสีได้ดีแตกต่างจากเพศเมีย ตัวและขามีเกล็ด ขาและนิ้วเล็กเรียว เล็บแหลมคม หางยาว ส่วนใหญ่อาศัยบนต้นไม้ เช่น กิ้งก่าบ้านหัวนํ้าเงิน ( Calotes mystaceus Dumeril & Bibron) กิ้งก่าเขา [ Acanthosaura armata (Hardwicke & Gray) ], อีสานเรียก ปอม กะปอม กะทั่ง หรือ กะท้าง. |
กุ้งนาง | น. กุ้งก้ามกรามเพศเมีย ลำตัวและก้ามมีขนาดเล็กกว่าเพศผู้เสมอเมื่อมีอายุเท่ากัน สีอ่อนกว่ากุ้งก้ามกรามซึ่งเป็นเพศผู้ วางไข่ติดหน้าท้อง ไข่ฟักเป็นตัวอ่อนในน้ำกร่อย แล้วมาอาศัยเจริญเติบโตจนเป็นตัวเต็มวัยในน้ำจืด. |
ไข่ ๑ | น. ตัวสืบพันธุ์ประกอบด้วยเซลล์สืบพันธุ์เพศเมีย อาหาร และสิ่งห่อหุ้มซึ่งอาจจะเป็นไข่ขาว วุ้น เยื่อถุงไข่ หรือเปลือก ส่วนมากมีรูปร่างกลม จะมีตัวอ่อนภายในหรือไม่ก็ได้, ฟอง ก็เรียก, ลักษณนามว่า ฟอง ลูก หรือ ใบ |
ครั่ง ๑ | (คฺรั่ง) น. ชื่อเพลี้ยหอยชนิด Kerria lacca (Kerr) ในวงศ์ Kerriidae เพศเมียไม่มีปีก ขณะเป็นตัวอ่อนระยะแรกมีขาและหนวด เคลื่อนไหวได้ เมื่อลอกคราบเวลาต่อมาจะไม่มีขา เกาะอยู่กับที่ดูดกินนํ้าเลี้ยงจากต้นไม้ เช่น จามจุรี และผลิตสารซึ่งเรียกว่า ขี้ครั่ง นำไปใช้ทำประโยชน์ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ หลายอย่าง เช่น เชลแล็ก สีย้อมผ้า. |
จิ้งเหลนด้วง ๑ | น. ชื่อสัตว์เลื้อยคลานจำพวกจิ้งเหลนที่ไม่มีขาหรืออาจมีร่องรอยของขาคู่หลังเหลืออยู่เล็กน้อย ในวงศ์ Dibamidae และวงศ์ Scincidae ลำตัวเรียวยาว ขนาดยาวตั้งแต่ ๗-๒๕ เซนติเมตร เกล็ดลำตัวเรียบ อาศัยอยู่ใต้ผิวดินที่ร่วนซุยหรือเป็นดินปนทรายซึ่งมีซากผุพังของพืชปกคลุม, ในวงศ์ Dibamidae เฉพาะเพศผู้มีร่องรอยของขาคู่หลังเป็นแผ่นแบนให้เห็นเล็กน้อย ที่พบในประเทศไทย ได้แก่ จิ้งเหลนด้วงสีม่วง ( Dibamus alfrediTaylor) ซึ่งพบทางภาคใต้ และจิ้งเหลนด้วงสมศักดิ์ ( D. somsakiHonda, Nabhitabhata, Ota & Hikida) ซึ่งพบที่เขาสอยดาว จังหวัดจันทบุรี ส่วนในวงศ์ Scincidae ไม่มีขาทั้งเพศผู้และเพศเมีย ที่พบในประเทศไทย ได้แก่ ชนิด Isopachys anguinoides (Boulenger) พบที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์, ชนิด I. roulei (Angel) พบที่จังหวัดชลบุรี, ชนิด I. gydenstolpeiLönnberg และ I. borealisLang & Bohme พบทางภาคตะวันตก ชนิด Davewakeum miriamaeHeyer พบที่อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา. |
ดาสวน | น. ชื่อแมลงพวกมวนชนิด Sphaerodema rusticum (Fabricius) และ S. molestum (Dufour) ในวงศ์ Belostomatidae ลักษณะคล้ายแมลงดานาแต่ตัวเล็กกว่ามาก ลำตัวยาวประมาณ ๑.๕ เซนติเมตร ตัวอ่อนอยู่ในน้ำ กินแมลงหรือสัตว์น้ำขนาดเล็ก ตัวเต็มวัยมักบินเข้าหาแสงไฟ เพศเมียวางไข่บนหลังเพศผู้เป็นกลุ่มยึดติดกันด้วยสารเหนียว นำมาคั่วกับเกลือกินได้, แมลงดาสวน สีเสียด แมลงสีเสียด มวนหลังไข่ หรือ มวนก้าน ก็เรียก |
ต่อ ๑ | น. ชื่อแมลงหลายชนิด หลายสกุล และหลายวงศ์ อันดับ Hymenoptera มีความยาว ๑.๕ เซนติเมตรขึ้นไป มีปีก ๒ คู่ ลักษณะเป็นแผ่นบางใส ปีกคู่หลังเล็กกว่าปีกคู่หน้า ปากเป็นชนิดกัดกิน ช่วงต่อระหว่างปล้องอกกับปล้องท้องคอดกิ่ว เพศเมียมีเหล็กในสำหรับต่อยปล่อยนํ้าพิษทำให้เจ็บปวดอาจถึงตายได้ และสามารถต่อยได้หลายครั้งต่างกับผึ้ง บางชนิดอยู่อย่างลำพัง แต่บางชนิดรวมกลุ่มทำรังอยู่เป็นฝูง ที่สำคัญได้แก่ วงศ์ Vespidae เช่น ต่อหัวเสือ [ Vespa affinis (Linn.) ] ต่อหลุม ( V. mandarinia Smith) นอกจากนี้ยังมีต่อในวงศ์อื่น ๆ เช่น ต่อกาเหว่า หมาร่า ต่อแมงมุม. |
ตัวเมีย | น. เพศเมีย (ใช้เฉพาะสัตว์และพืชบางชนิด) เช่น แมวตัวเมีย เสลดพังพอนตัวเมีย |
ตาล | (ตาน) น. ชื่อปาล์มชนิด Borassus flabellifer L. ในวงศ์ Palmae ใบใหญ่ ดอกแยกเพศ อยู่ต่างต้น ต้นเพศผู้ออกดอกเป็นงวง ต้นเพศเมียออกดอกเป็นช่อเดี่ยว ๆ ผลใหญ่กลมโตเป็นทะลาย ภายในผลมีเมล็ดเรียกว่าเต้า น้ำหวานที่ออกจากงวงของต้นเพศผู้ เรียกว่า น้ำตาลสด ใช้ทำน้ำตาลได้ ตอนหัวของผลอ่อน เรียกว่า หัวตาล ต้มแกงกินได้ เมื่อเต้ายังอ่อน เรียกว่า ลอนตาลหรือตาลเฉาะ เนื้อในนิยมกินสดหรือกินกับนํ้าเชื่อม จาวที่เกิดจากเมล็ดแก่ที่งอกแล้ว เรียกว่า จาวตาล เชื่อมกินได้, ตาลโตนด ก็เรียก |
นารีบูร | น. เกสรเพศเมีย. |
ปั่นใย | น. ชื่อแมลงอันดับ Embioptera ลักษณะลำตัวเป็นรูปทรงกระบอก ยาว ๐.๕-๒.๐ เซนติเมตร เพศเมียทุกตัวและเพศผู้บางตัวไม่มีปีก ตีนมี ๓ ข้อ สามารถสร้างใยได้จากต่อมสร้างใยอยู่ที่ตีนข้อแรกของขาคู่หน้าที่โป่งพองออก อาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่มภายในอุโมงค์ เส้นใยมักพบตามใต้เปลือกไม้ รอยแตกในดินและหิน ที่พบบ่อย เช่น ชนิด Oligotoma saundersii Westwood ในวงศ์ Oligotomidae, ชักใย ก็เรียก. |
ผู้หญิง | น. มนุษย์เพศเมียซึ่งโดยกำเนิดมีโยนีเป็นอวัยวะสืบพันธุ์, หญิง ก็ว่า. |
มด ๑ | น. ชื่อแมลงหลายชนิดในวงศ์ Formicidae ส่วนท้องปล้องที่ ๑ หรือปล้องที่ ๑ และปล้องที่ ๒ ที่ติดกับอกคอดกิ่ว ด้านหลังส่วนที่คอดมีโหนกนูน ลักษณะนี้ทำให้มดแตกต่างไปจากต่อ แตน และปลวก มีรูปร่าง ลักษณะ สี และกลิ่นแตกต่างกันตามชนิด เดินกันเป็นทางเพื่อขนอาหาร หรือย้ายรัง เป็นแมลงสังคม ทำรังอยู่เป็นกลุ่ม แบ่งชั้นวรรณะเป็นมดนางพญา มดผู้ และมดงาน มดงานเป็นมดเพศเมียที่เป็นหมันทำหน้าที่สร้างรัง เลี้ยงดูตัวอ่อน และหาอาหาร บางชนิดเมื่อถูกรบกวนจะป้องกันตัวโดยใช้อวัยวะต่อยปล่อยกรดหรือกัดให้เกิดแผลและปล่อยกรดออกมาทำให้เกิดอาการระคายเคืองหรือทำให้เจ็บปวดได้. |
มดแดง | น. ชื่อมดชนิด Oecophylla smaragdina (Fabricius) ในวงศ์ Formicidae มดงานลำตัวยาวประมาณ ๑ เซนติเมตร สีส้มหรือนํ้าตาลปนแดงตลอดรวมทั้งหนวดและขา ตาเล็ก สีนํ้าตาลแก่ ทำรังอยู่ตามต้นไม้ เช่น มะม่วง ขนุน โดยใช้ใบมาห่อเข้าด้วยกัน ขณะถูกรบกวนจะป้องกันตัวโดยกัดให้เกิดแผลแล้วปล่อยกรดออกมาทำให้ปวดแสบปวดร้อน เพศเมียที่มีปีก เรียก แม่เป้ง ลำตัวยาว ๑.๕-๑.๘ เซนติเมตร สีเขียวปนน้ำตาล ปีกใสสีน้ำตาล เมื่อผสมพันธุ์แล้วทำหน้าที่วางไข่เพียงอย่างเดียวเป็นมดนางพญา, มดส้ม ก็เรียก. |
แมลงวันทอง | น. ชื่อแมลงหลายชนิดหลายสกุล ในวงศ์ Tephritidae รูปร่างคล้ายแมลงวันแต่ลำตัวเรียวกว่า อกและท้องสีน้ำตาลแก่มีแต้มสีเหลืองหรือส้มแตกต่างกันตามชนิด โดยรวมแล้วมองดูคล้ายสีทอง หลังผสมพันธุ์เพศเมียเจาะเปลือกผลไม้เพื่อวางไข่ เมื่อฟักเป็นตัวหนอนทำลายผลไม้ ตัวเต็มวัยพบตอมอยู่ตามดอกไม้บางชนิด เช่น เดหลีใบกล้วย [ Spathiphyllum cannifolium (Dryand) ] ที่พบมากคือ ชนิด Bactrocera dorsalis (Hendel) ตัวหนอนทำลายผลไม้ เช่น มะม่วง ฝรั่ง ชมพู่ พุทรา, แมลงวันผลไม้ ก็เรียก. |
ยุง | น. ชื่อแมลงขนาดเล็กหลายชนิดหลายสกุล ในวงศ์ Culicidae โดยทั่วไปลำตัวยาว ๓-๖ มิลลิเมตร มีปีก ๑ คู่ ปีกมีส่วนคล้ายเกล็ดปกคลุมอยู่ตามเส้นปีกและอาจคลุมไปถึงหัวและลำตัวด้วย หนวดยาวลักษณะเป็นพู่ พู่ขนของเพศเมียสั้น ของเพศผู้ยาว ปากเป็นชนิดเจาะดูด เฉพาะตัวเมียดูดกินเลือดและเป็นพาหะนำโรคสู่คนและสัตว์ เพศผู้ดูดกินน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ เช่น ยุงรำคาญ ในสกุล Culex ยุงลาย ในสกุล Aedesยุงก้นปล่อง ในสกุล Anopheles. |
ไรน้ำเค็ม | น. ชื่อสัตว์น้ำเค็มขาปล้องหลายชนิด ในสกุล Artemiaวงศ์ Artemiidae ขนาดยาว ๒ เซนติเมตรหรือมากกว่า รยางค์อกมี ๑๑ คู่ แต่ละคู่มีเหงือก เพศผู้มีอวัยวะเพศที่ปล้องท้องปล้องที่ ๑ และ ๒ เพศเมียมีรังไข่ ๑ คู่ที่ปล้องอกปล้องท้าย ๆ สืบพันธุ์ได้ทั้งแบบอาศัยเพศและไม่อาศัยเพศ กินตะไคร่น้ำเป็นส่วนใหญ่ อาศัยอยู่ได้ในทุกระดับความเค็ม พบทั่วโลก นำเข้ามาจากต่างประเทศเพื่อเพาะเลี้ยงเป็นอาหารของสัตว์น้ำ เช่น ชนิด A. franciscanaKellogg, ไรสีน้ำตาล หรือ อาร์ทีเมีย ก็เรียก. |
ละองละมั่ง | น. ชื่อกวางชนิด Cervus eldi McClelland ในวงศ์ Cervidae เป็นกวางขนาดกลาง ตัวสีนํ้าตาลอ่อน คอยาวกว่ากวางชนิดอื่น ตัวผู้เขาโค้งปลายชี้ไปด้านหน้า ตัวเมียไม่มีเขา ลูกเกิดใหม่มีจุดขาวตามลำตัว กินหญ้าและใบไม้ เป็นสัตว์ป่าสงวนของไทย, บ้างเรียกเพศผู้ว่า ละอง เรียกเพศเมียว่า ละมั่ง. |
ลาย ๒ | น. ชื่อยุงหลายชนิด ในสกุล Aedes วงศ์ Culicidae ผนังด้านล่างของส่วนท้องมีเกล็ด พื้นลำตัวสีดำหรือน้ำตาลแก่ เกล็ดสีขาวสลับเป็นแถบลายต่าง ๆ เพศเมียมีรยางค์คู่ใกล้ปากสั้นกว่าตัวผู้ เกาะดูดเลือดโดยลำตัวขนานกับพื้น วางไข่ในน้ำนิ่งสะอาด ที่พบทั่วไปตามบ้าน เช่น ชนิด A. aegypti (Linn.) เป็นพาหะนำโรคมาสู่คน เช่น โรคไข้เลือดออก. |
เสือแมลงวัน | น. ชื่อแมงมุมขนาดเล็กหลายชนิดหลายสกุล ในวงศ์ Salticidae อาศัยอยู่ตามบ้านเรือน กระโดดจับแมลงวันกิน ที่พบบ่อยได้แก่ ชนิด Plexippus petersi (Karsch) ขนาด ๖-๙ มิลลิเมตร พื้นลำตัวสีขาวเทา เพศผู้เล็กกว่าเพศเมียและมีแต้มสีดำที่ด้านหลัง ส่วนเพศเมียไม่มีแต้ม. |
หญ้าฝรั่น | (-ฝะหฺรั่น) น. ชื่อเรียกยอดเกสรเพศเมียแห้งของไม้ล้มลุกมีหัวชนิด Crocus sativusL. ในวงศ์ Iridaceae ใช้ทำยา เครื่องหอม และแต่งสีอาหารได้. |
หญิง | น. มนุษย์เพศเมียซึ่งโดยกำเนิดมีโยนีเป็นอวัยวะสืบพันธุ์, ผู้หญิง ก็ว่า. |
หิ่งห้อย | น. ชื่อแมลงพวกด้วงหลายชนิดหลายสกุล ในวงศ์ Lampyridae ลำตัวเป็นรูปทรงกระบอก ด้านปลายของส่วนท้องมีปล้องทำแสง ๒ ปล้องในเพศผู้ และ ๑ ปล้องในเพศเมีย โดยแสงเกิดจากสารลูซิเฟอรินทำปฏิกิริยากับออกซิเจน ความถี่และช่วงของแสงนั้นแตกต่างกันแล้วแต่ชนิด บางชนิดตัวเมียไม่มีปีก ที่พบมากตามแหล่งน้ำจืด เช่น ชนิด Luciola aquatilis Thaneharoen ที่พบตามป่าชายเลน เช่น ชนิด Pteroptyx malaccae (Gorham), ทิ้งถ่วง แมลงแสง หรือ แมลงไฟ ก็เรียก. |
หี | น. อวัยวะสืบพันธุ์ของหญิงหรือสัตว์เพศเมียบางชนิด. |
เหลือบ ๑ | (เหฺลือบ) น. ชื่อแมลงหลายชนิดหลายสกุล ในวงศ์ Tabanidae รูปร่างคล้ายแมลงวันแต่ตัวโตกว่า มีปีกคู่เดียวซึ่งมักใส แต่บางชนิดเป็นลายสีต่าง ๆ เช่น นํ้าตาล นํ้าเงิน รวมทั้งสีเลื่อมพราย จึงเรียกว่า ตัวเหลือบ หนวดปล้องปลายมีลักษณะเรียวโค้งงอคล้ายเคียว ปากมีอวัยวะเป็นแผ่นคมคล้ายใบมีด และมีอวัยวะเป็นท่อใช้ดูดของเหลวกิน เพศเมียดูดกินเลือดคนและสัตว์ เพศผู้ดูดกินน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ บางชนิดเป็นพาหะนำโรคโดยเฉพาะในสัตว์ใหญ่ ส่วนใหญ่อยู่ในสกุล Tabanus และ Chrysops. |